UFABETWIN วงการเทควันโดไทยสานต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่อ
นับตั้งแต่เหรียญทองแดงของ “วิว” เยาวภา บุรพลชัย ในโอลิมปิกเกมส์ 2004 จนถึงเหรียญทองประวัติศาสตร์ของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในโตเกียวเกมส์ 2020
ซึ่งวันนี้ยังคงมีจอมเตะดาวรุ่งไทยที่ทำผลงานพร้อมแจ้งเกิดเจริญรอยตามรุ่นพี่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือ “ขนมจีบ” ณัฐกมล วาสนา นักเทควันโดหญิงวัย 15 ปี ที่เพิ่งคว้าแชมป์เยาวชนโลกปี 2022 ที่ประเทศบัลแกเรียมาครองได้สำเร็จในรุ่น 44 กิโลกรัม
นอกจากจะเป็นพิกัดน้ำหนักและรายการเดียวกับที่เทนนิสเคยลงชิงชัยเมื่อสมัยเป็นเยาวชนแล้ว ขนบจีบยังมีจุดเด่นอยู่ที่ช่วงขาที่ยาวและส่วนสูงถึง 178 ซม. จนเรียกได้ว่าแทบจะถอดแบบกันมาเลยก็ว่าได้
จึงเป็นที่น่าจับตาว่าอนาคตของเจ้าตัวจะสามารถเจริญรอยตามความสำเร็จที่รุ่นพี่กรุยทางไว้ได้หรือไม่ ก่อนจะถึงวันนั้น จึงอยากพาไปผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเส้นทางการเป็นนักเทควันโดของเด็กสาวรายนี้ให้มากขึ้น
เปียโน หรือ เทควันโด ขนมจีบ เติบโตขึ้นมาด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของครอบครัว คุณพ่อชยพล วาสนา และคุณแม่วิธิดา จงสูงเนิน เปิดโอกาสให้เธอได้ลองหาสิ่งที่ชอบนอกรั้วโรงเรียนด้วยการส่งไปเรียนเปียโนและเทควันโด ประเภทพุมเซ่ (ท่ารำ) ตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 3
ทว่าเรียนสลับกันไปได้อยู่เพียงปีเดียว ทางครอบครัวก็ประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจจนเกือบจะล้ม ทำให้ฐานะการเงินของที่บ้านไม่สู้ดีนัก คุณพ่อจึงต้องไปทำงานที่โรงงานส่วนคุณแม่ต้องไปขายน้ำส้มอยู่ริมทาง นั่นจึงเป็นทางแยกที่ทำให้เด็กน้อยต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนอะไรต่อเพียงอย่างเดียว เพราะที่บ้านไม่สามารถแบกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไหว
“ตอนนั้นป๊าให้เลือกว่าจะเรียนอะไรต่อระหว่างเทควันโดกับเปียโน จริง ๆ หนูชอบเปียโนมากกว่าแต่เลือกเทควันโดไปเพราะป๊าชอบ อยากเอาใจป๊า แล้วตอนนั้นทางโค้ชได้ส่งหนูไปแข่งประเภทต่อสู้ด้วย ไปแข่งแล้วแพ้ โดนเตะยับเลย เตะไปร้องไห้ไป เลยรู้สึกว่าอยากเก่งขึ้น” ขนมจีบเผยถึงจุดเริ่มต้น ซึ่งเธอเพิ่งเฉลยความในใจดังกล่าวให้กับคุณพ่อและคุณแม่ได้รู้เมื่อไม่นานมานี้
เด็กสาวหน้าตาสดใส หน่วยก้านท่าทาง และส่วนสูงถึง 178 ซม. ดูเผิน ๆ แทบจะถอดแบบมาจากรุ่นพี่ทีมชาติอย่าง “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ สมัยยังเป็นดาวรุ่ง เธอเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักกีฬาเทควันโดของเธออย่างอารมณ์ดี แต่น้ำเสียงที่เอ่ยออกมาล้วนแฝงถึงความมุ่งมั่นจริงจังและสะท้อนถึงเส้นทางที่ต้องฝ่าฟันมาไม่น้อย
หลังจากตัดสินใจที่จะเรียนเทควันโดต่อ คุณพ่อจึงปรึกษากับ “แม็ก”
ชัชวาล ขาวละออ อดีตนักเทควันโดทีมชาติไทยดีกรีแชมป์โลกซึ่งเป็นเพื่อนของตน เพื่อหาสถานที่เรียนให้กับลูกสาว ก่อนจะไปลงเอยที่ “ยิมทวีศิลป์” ของ อาจารย์เข้ม ทวีศิลป์ คำนวน อดีตโค้ชเยาวชนทีมชาติ
การไปเรียนที่นี่ทำให้เธอต้องเดินทางจากบ้านเกิดอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปฝึกซ้อมที่ยิมย่านคลอง 7 ปทุมธานี เป็นประจำทุกวัน โดยคุณแม่จะขี่จักรยานยนต์ไปรับลูกสาวหลังเลิกเรียนที่โรงเรียนปัณณวิชญ์ แล้วพาขึ้นรถตู้ต่อเพื่อเดินทางข้ามจังหวัดทั้งไปและกลับวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งบางครั้งต้องซ้อมจนดึกถึง 3-4 ทุ่มเลยก็มี
“พอเรียนได้พักนึงมันเริ่มสนุก ตอน ป.1 ไปแข่งรายการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชมเปี้ยนชิพ แล้วชนะได้เหรียญทองครั้งแรก ดีใจมาก แล้วป๊าก็ซื้อตุ๊กตาบาร์บี้ให้เป็นรางวัล เลยตั้งธงว่าต้องชนะอีกเพื่อจะได้ของเล่น (หัวเราะ)”
“พอซ้อมไปเรื่อย ๆ มันก็เหนื่อยมากค่ะ เพราะกว่าจะซ้อมเสร็จกลับบ้านก็ดึกแล้วเช้าต้องไปเรียนต่อ แต่หนูรู้สึกว่ามาไกลเกินกว่าจะถอยหลังแล้ว ซึ่งแต่ละวันแม่จะให้หนูนอนวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าไม่ครบก็จะไม่ให้ตื่น หนูเลยไม่เคยเข้าแถวตอนเช้าทันเลยสักวัน จริง ๆ ก็ไม่อยากไปโรงเรียนเลยทุกวัน แต่พอไปแล้วก็ต้องเรียน ทำอะไรไม่ได้” ขนมจีบ เผย ซึ่งแม้จะเหนื่อยเพียงไหนเธอก็ยังไม่ทิ้งการเรียนแถมยังได้เกรดเฉลี่ย 3.50 – 4.00 แทบทุกปี
นอกจากความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางที่ทั้งคู่ต้องเผชิญแล้ว ผู้เป็นแม่ยังต้องแบกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าเดินทางในวันที่ครอบครัวยังคงมีสถานะทางการเงินที่ไม่สู้ดีอยู่ด้วย ถึงขนาดที่คนรอบข้างแนะนำว่าให้เลิกดีไหมเพื่อตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป
แต่เมื่อเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและพัฒนาการที่ดีขึ้นของลูกสาว เธอก็พร้อมที่จะกัดฟันสู้ต่อไปด้วยกันเพื่อความฝันของลูก และคอยทำหน้าที่ซัปพอร์ตให้กำลังใจ คอยนวด คอยเช็ดเลือดให้ยามที่ลูกสาวบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม … ซึ่งอาการบาดเจ็บที่เด็กสาวต้องเผชิญนั้นไม่ใช่แค่การเลือดตกยางออกจากผลพวงของกีฬาต่อสู้ทั่วไป แต่เป็นอาการเจ็บที่เธอต้องทุกข์ทรมานอยู่นานกว่า 5 ปี
ความสำเร็จภายใต้ความเจ็บปวดภายใต้ชายคา “ยิมทวีศิลป์” ขนมจีบได้เรียนรู้เทคนิค
ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงเคล็ดลับท่าเตะสำหรับนักกีฬาที่มีส่วนสูงและมีขายาวอันเป็นจุดเด่นของตัวเอง จนทำให้ฝีมือของเธอพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมี อาจารย์เข้ม ทวีศิลป์ คำนวน ผู้ปลุกปั้นนักกีฬาสู่รั้วทีมชาติมาแล้วมากกว่า 40 ราย อาทิ “แม็ก” ชัชวาล ขาวละออ (แชมป์โลก), “เทม” เทวินทร์ หาญปราบ (เหรียญเงินโอลิมปิก), กานต์ธิดา แสงสิน (เหรียญทองยูธโอลิมปิก) เป็นผู้ติวเข้มด้วยตัวเอง
เด็กสาวเดินหน้ากวาดความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่รองแชมป์เยาวชนประเทศไทย รุ่นอายุ 12-14 ปี, แชมป์ยุวชนเอเชีย และแชมป์ยุวชนโลก (การแข่งขันเทควันโดคาเดตชิงแชมป์โลก 2019) … ทว่าแทบไม่มีใครรู้เลยว่าเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นภายใต้ความทรมานจากอาการบาดเจ็บกระดูกหลังเท้าแตกที่เรื้อรังมานานกว่า 5 ปี
“ตอนประมาณ 10 ขวบ หนูไปแข่งรายการนึงแล้วเจ็บ พอไปให้หมอที่โรงพยาบาลเอกชนกดเช็คดูมันก็ไม่ได้เจ็บมากแต่เหมือนกระดูกมันมีรอยติดกันไม่สนิทเลยต้องใส่เฝือกไว้ 3 เดือน แต่พอถอดเฝือกออกก็เหมือนจะไม่หายร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่ข้อเท้าพลิกมันก็กลับมาเจ็บอีก”
“แล้วมีอยู่วันนึงตอนซ้อม หนูเตะไปโดนศอกเพื่อนก็กลับมาเจ็บจนต้องใส่เฝือกอีก พอเริ่มดีขึ้นพอไปแข่งได้ก็เจ็บอีกจนต้องกลับมาใส่อีก หนูใส่เฝือกอยู่ 4 รอบจนมันเริ่มเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ นอนอยู่บนเตียงไม่ได้ทำอะไรก็เจ็บ ไม่ได้ขยับอะไรอยู่เฉย ๆ ก็เจ็บ ยิ่งถ้าเดินลงน้ำหนักก็เหมือนจะล้มตลอดเวลา มันปวดมาก เหมือนกระดูกมันขยับได้ ทนมานานมาก เจ็บกับอาการแบบนี้มา 4-5 ปีได้” ขนมจีบ เผย
แม้จะมีอาการบาดเจ็บที่เรื้อรังแต่เธอก็ยังคงอดทนและฝืนฝึกซ้อมและลงแข่งขันต่อเนื่อง จนวันที่เธอได้มีโอกาสเข้าไปเก็บตัวฝึกซ้อมกับทางสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยอย่างเต็มตัว ในฐานะนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย เมื่อปลายปี 2021 จึงได้รับการดูแล ช่วยเหลือ และส่งตัวเข้ารับการรักษาอย่างดี
ทางเลือกตอนนั้นของเธอคือผ่าตัดเพื่อใส่สกรูเพื่อยึดกระดูกไว้หรือผ่าตัดเอากระดูกที่แตกออก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนโอกาสที่จะหายกลับมาเล่นกีฬาได้ตามปกติก็ 50/50 เธอตัดสินใจเลือกวิธีหลังเนื่องจากผ่าตัดแล้วใช้เวลาพักฟื้นเร็วกว่า